เมื่อต้นเดือนมิถุนายน มีบทความภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ออนไลน์ตามลิงก์ด้านล่าง ซึ่งเขียนโดย Brooke Schedneck ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านศาสนศึกษา ของ Rhodes College ในสหรัฐอเมริกา บทความนี้กล่าวถึงการระบาดของโควิดส่งผลให้มีการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวมายังวัดในประเทศไทย แต่ผลกระทบมีมากกว่าผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมุมที่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงทาง IBHAP Foundation ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้แปลบทความเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ เนื้อหาในบทความมีดังนี้ผลกระทบต่อประเทศที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดฮวบ อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด 19 เห็นได้อย่างชัดเจน ในประเทศไทยซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 11– 12 ของ GDP จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ลดลงร้อยละ 83 ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนที่โดยปกติมีนักท่องเที่ยวสูงที่สุด ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6,000 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 4 ล้านคน ร้อยละ 99.8รัฐบาลไทยประเมินว่ามีการสูญเสียรายได้หนึ่งแสนล้านบาท (มากกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 และมีผู้ตกงานอันเป็นผลจากการลดฮวบของธุรกิจท่องเที่ยว 1.45 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียที่แท้จริงไม่สามารถแสดงในรูปของตัวเลขเท่านั้น แต่โอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายโอกาสก็สูญเสียไปด้วยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองขนาดกลางในภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่จังหวัดนี้พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในฐานะนักวิชาการที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวและวัดในภูมิภาคนี้ก่อนการระบาดของโรคเริ่มขึ้น ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด 19 ต่อวัดวัดบางแห่งซึ่งอาศัยการบริจาคของนักท่องเที่ยวเป็นหลักกำลังอยู่ในฐานะลำบากในการที่จะผ่านพ้นช่วงระบาดของโรค นอกจากนี้ธุรกิจเล็ก ๆ รอบวัดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยวนานาชาติ
วัดและการท่องเที่ยว
ก่อนการระบาดของโควิด 19 วัดพระเชตุพน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวราว 6,000 ถึง 10,000 คนต่อวัน นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายค่าเข้าคนละ 200 บาท หรือ 6.40 ดอลลาร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเข้าฟรี ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาชาติเมื่อเดือนมกราคม 2564 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์กล่าวว่า ทางวัดสามารถรับมือกับการไม่มีนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ได้ แต่คงไม่สามารถรับต่อไปได้นานนัก ที่ผ่านมาอาศัยการบริจาคจากคนไทย ทางวัดสามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงานทำความสะอาด และพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่ถ้าปราศจากค่าเข้าจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นการยากที่จะมีรายได้พอสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือนราว 96,000 ดอลลาร์สหรัฐ แม้แต่วัดพระแก้วที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงเทพฯ ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อย วัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวังและเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ไทยในอดีต ในปี 2559 พระบรมมหาราชวังมีชื่อเป็น 1 ใน 50 ของสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมมากที่สุดในโลก ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Travel + Leisure โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าชม 8 ล้านคนต่อปี โดยปกติในฤดูท่องเที่ยวจะมีคนต่อแถวยาวเพื่อเข้าชม และด้านในจะมีคนหนาแน่น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายค่าเข้าชมคนละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าเข้าความสูญเสียของชุมชนวัด และธุรกิจเล็ก ๆ รอบวัดที่มีชื่อเสียงเหล่านี้มีนัยสำคัญ ผู้ค้าน้ำดื่ม อาหาร และของที่ระลึกรอบๆ วัดได้ขาดรายได้ คนเหล่านี้หลายคนเป็นผู้มีรายได้อย่างไม่เป็นทางการ การสำรวจในปี 2561 พบว่าร้อยละ 55.3 ของประชากรไทยทั้งหมดอยู่ในการจ้างงานนอกระบบ
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
การสูญเสียการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติและชุมชนวัดส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินเป็นจำนวนเงินได้ ในหนังสือของผู้เขียนที่ตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เน้นให้เห็นถึงพลังงานและความพยายามของพระนักศึกษาในการริเริ่มโครงการการเรียนรู้พุทธศาสนาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลาย ๆ โครงการมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาระดับวิทยาลัย ในงานวิจัยของผู้เขียน พบว่าโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้มีประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวและเป้าหมายของพระภิกษุ นักท่องเที่ยวหลายคนทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสขณะท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็ได้ซึมซับวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตที่แตกต่างในประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่เป็นอาสาสมัครโดยทั่วไปจะสอนภาษาอังกฤษและอาศัยอยู่ในวัดเป็นเวลาหลายเดือน จากการสัมภาษณ์ของผู้เขียน นักท่องเที่ยวเหล่านี้กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ได้ทำให้เขาสามารถเรียนรู้และสะท้อนคุณค่าของตัวเอง และพิจารณาวิธีคิดใหม่ๆ ในการอยู่อย่างมีความสุขพระภิกษุมองการเผยแพร่คำสอนของพุทธศาสนาให้แก่ผู้สนใจเป็นหน้าที่ มีโครงการโครงการหนึ่งชื่อว่า Monk Chat ซึ่งดำเนินการโดยวัดสวนดอก และมหาจุฬากรณ์ราชวิทยาลัย โดยจัดให้มีการสนทนาภาษาอังกฤษตัวต่อตัว หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ระหว่างพระภิกษุและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พระภิกษุที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ท่านมักจะได้วิธีคิดใหม่ ๆ จากการถกกับชาวต่างชาติ ตั้งแต่การยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไปจนถึงการถูกผลักดันให้คิดถึงวิถีชีวิตของพระอย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เขียนถามว่า “ท่านได้เปลี่ยนไปอย่างไรจากการได้พบปะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” พระภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า ท่านเคยยอมรับกฎและการปฏิบัติของสงฆ์โดยไม่เคยคิดถึงวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามหลังจากนักท่องเที่ยวได้ถามท่านว่าทำไมท่านต้องปลงผมและนุ่งห่มจีวรสีเหลือง ท่านก็ได้พิจารณาว่าการไม่มีผมและการนุ่งห่มเครื่องแบบคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่านเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นว่าพระภิกษุต้องละเว้นจากการแสดงบุคลิกภาพของตนเองด้วยทรงผมและแฟชั่นการแต่งกายเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด Monk Chat จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการพบปะกันออนไลน์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 Monk Chat ได้ถ่ายทอดสดแทบทุกสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊คโดยมีแขกรับเชิญหลากหลาย โดยปกติพระภิกษุจะเตรียมสะท้อนความคิดในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่ เช่น บทเรียนชีวิตจากโควิด-19เฟซบุ๊คไลฟ์เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในขณะนี้ แต่ผลที่ได้ไม่เหมือนกับการสนทนากับชาวต่างชาติโดยตรง รูปแบบจะเป็นทางการมากกว่า ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะแบ่งปันเรื่องส่วนตัวหรือได้เห็นการหยอกล้อกันของพระภิกษุการวัดความสูญเสียเหล่านี้เป็นเรื่องยาก แต่มันจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งเป็นระยะเวลานานพอสมควรอย่างไม่ต้องสงสัย
ท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านสุขกาย สุขใจ ปลอดภัยจากโควิดด้วยความห่วงใยจาก IBHAP Foundation#มูลนิธิสกพ#IBHAPFoundation#COVID19