ช่วงที่ 2 ของ zoom สื่อ ทาง Chula Radio Plus FM 101.5 MHz

สำหรับในช่วงที่ 2 ของรายการทุกสัปดาห์ก็จะเป็นช่วง Icon Focus ซึ่งรายการจะได้เรียนเชิญบุคคลที่อยู่ในแวดวงสื่อที่น่าสนใจมาสนทนา โดยบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน กับคุณผู้ฟัง ในการทำงานด้านสื่อที่สร้างสรรค์หรือการเสพสื่อที่มีประโยชน์ 

เช่นเดียวกัน รายการในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากพระอาจารย์มหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการมูลนิธิการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ และพระอาจารย์ยังเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศด้วย พระอาจารย์เป็นพระนักสื่อสารที่ทำงานด้านสื่อในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ในเพจสื่อออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อที่จะสร้างสุขและสันติให้เกิดขึ้นกับสังคมและผู้คน พระอาจารย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติขึ้นมา ซึ่งในวันนี้ พระอาจารย์ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกับเราในรายการ zoom สื่อ ในช่วง Icon Focus ตอนนี้พระอาจารย์อยู่ในสายแล้ว นมัสการพระอาจารย์ค่ะ

 

เจริญพรคุณพลินีและท่านผู้ฟังรายการทุกท่าน เจริญพร

 

ความเป็นมาที่พระอาจารย์ได้ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา

เบื้องต้นเลย จริง ๆ ตัวมูลนิธิเพิ่งตั้งได้ปีเดียว ก็คือเริ่มประชุมที่จะก่อตั้งเมื่อต้นปีที่แล้ว แล้วก็จดทะเบียนสำเร็จในช่วงกันยายน แล้วตอนนี้ก็กำลังเริ่มขับเคลื่อน ถ้าตอบสั้น ๆ ว่ามูลนิธิจัดตั้งเพื่ออะไร มูลนิธิ สกพ. หรือ IBHAP Foundation ตัวนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสื่อนั่นเอง เพื่อบูรณาการเรื่องพุทธศาสนามาตอบปัญหาคนและสังคมในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ 3 ข้อหลัก ๆ ก็คือ

1. เรื่องการส่งเสริมการนำพระพุทธศาสนา ทั้งในฐานะคำสอน สถาบัน และทุนทางสังคมวัฒนธรรมมาใช้ในการทำสังคมไทยให้มีสุขและสันติ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับปฏิบัติการและนโยบาย ให้เป็นต้นแบบได้ในระดับสากล

2. เรื่องการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมียุทธศาสตร์และพลังทวีคูณ โดยส่งเสริมค่านิยม วิธีคิด และการจัดการวิถีพุทธ และข้อสุดท้ายที่เป็นหลักก็คือ

3. เรื่องของการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ โดยเคารพความต่างระหว่างศาสนาและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ระหว่างทุกศาสนา

ทั้ง 3 ข้อที่พระอาจารย์เล่ามาให้ฟังนี่เป็นเรื่องที่เป็นทิศทางของสังคมในการขับเคลื่อน SDGs การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการใช้วิถีพุทธในการขับเคลื่อน และประเด็นในข้อสุดท้ายที่พระอาจารย์บอกว่า อยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างทุกศาสนา เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญจริง ๆ ในการที่จะอยู่ร่วมกัน

 

ในช่วงที่ผ่านมาพระอาจารย์มีภารกิจอะไรบ้าง

 

ก่อนที่จะตอบคำถามว่ามีภารกิจอะไรที่ผ่านมา อาจจะต้องขอโอกาสคุณพลินีและท่านผู้ฟังเล่าถึงความเป็นมาสั้น ๆ เล็กน้อย เพื่อให้เห็นภาพว่าการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดำเนินงานของมูลนิธิ สกพ. มีที่มาและจะมีที่ไปอย่างไร อาตมาบวชสามเณรตั้งแต่อายุ 11 ปี และหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธาจารย์วัดสระเกศ ท่านส่งไปเรียนที่อุตรดิตถ์ วัดคลองโพธิ์ ต่างจังหวัด ก็ได้เรียนแต่บาลี ไม่ได้เรียนทางโลกเลย จนมาเรียน มสธ. ด้วยตนเอง ก็เป็นเหตุให้ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ตอนนั้นอายุ 17 ปี ก็ต้องเริ่มทุกอย่าง เช่น ก่อนจะตอบคำถาม choose your right answer อาตมาต้องเปิดพจนานุกรมหมดเลย ไม่รู้เรื่อง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้ภาษาอังกฤษ สุดท้ายเมื่อกลับมากรุงเทพ มาเรียนต่อ ก็เลยรู้สึกเกิดภาวะตื่นรู้หรือเปิดโลกทัศน์ และมีความรู้สึกว่าพุทธศาสนาเอง จำเป็นต้องเป็นคำตอบให้กับสังคมปัจจุบันได้ ก็โชคดีว่าได้ไปอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน ของหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประยุทธ์ ปยุตฺโต ซึ่งอันนี้ทำให้อาตมาได้มิติเรื่องการบูรณาการพุทธธรรมมาสู่การแก้ปัญหาของคนและสังคมในยุคปัจจุบัน ได้อ่านหนังสือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นปาฐกถาของหลวงพ่อสมเด็จ ปยุตฺในสมัยนั้น จึงเป็นที่มาว่า รู้สึกว่าจริง ๆ พุทธศาสนามีคำตอบหลายอย่างให้กับโลกปัจจุบัน เพียงแต่ว่าโครงสร้างของสังคมไทยเรา ไม่ว่าทางภาครัฐหรือทางฝั่งพระสงฆ์เอง ไม่ได้มีอะไรพร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ จึงเป็นที่มาว่าอยากทำงานพุทธศาสนาโดยบูรณาการพุทธธรรมไปสู่วิชาการสมัยใหม่ เพื่อแก้ปัญหาสังคมสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นก็สนใจการเรียนเรื่องการศึกษากับการสื่อสาร คิดว่า 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ

แล้วหลวงพ่อสมเด็จท่านก็แนะนำว่าถ้าอยากทำงานศาสนา บูรณาการพุทธธรรมสู่สังคม ก็ควรจะไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอาตมาก็เปลี่ยนจากที่สมัครเรียนนิเทศศาสตร์พัฒนาการไว้ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย แล้วก็ได้เพื่อนสหธรรมิกมาทำงานพุทธศาสนาจริง ๆ เกิดการตั้งกลุ่มชื่อกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม บูรณาการไตรสิกขากับเรื่อง group counselling จิตวิทยาการให้คำปรึกษาในการทำงานพวกนี้ ก็เริ่มอบรมเด็ก ๆ เยาวชน ผู้ติดยาเสพติด ครู ผู้บริหารมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดงานก็มาถึงจุดที่ได้ทำงานระดับชาติร่วมกับศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ สพฐ. เป็นต้น

เหตุที่เล่าย้อนความมาตรงนี้เพราะต้องการจะบอกว่า ในที่สุดเราก็ได้ไปทำงานร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำเรื่องโครงการส่งเสริมความมั่นคงของพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องความรุนแรงมาก แล้วพระก็ย้ายจากพื้นที่ อาตมาจึงประยุกต์เอาเรื่อง facilitator เรื่องวิทยากรกระบวนการ พัฒนางานกระบวนธรรม FA for D (Facilitator for development efficiency) ไปใช้เรื่องของ Community development ไปใช้กับพระอาจารย์ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อชวนท่านทำเรื่อง project management, community development ด้วยกัน แล้วก็ใช้เรื่อง group counselling ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่กำลังทุกข์เพราะการสูญเสีย เพราะความหวาดกลัว

เพราะโครงการนี้ ผลตอบรับดีมาก จึงทำให้ในส่วนขององค์กรต่างชาติอยากฟังอยากรู้ บังเอิญอาตมาเมื่อตอนต้นที่เล่าย้อนว่าได้เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองกับ มสธ. จึงเป็นเหตุให้สื่อสารได้บ้าง คราวนี้เมื่อสื่อสารที่หนึ่ง เหมือนกับเป็น marketing ใช้คำว่าอะไรดี of the mouth หรือ เป็นปากต่อปาก จึงทำให้ได้รับนิมนต์ไปเรื่อย จนในที่สุดก็นำไปสู่การมีความรู้สึกว่าน่าจะต้องพัฒนาภาษาจริงจังเพื่อสื่อสารสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมโลก ในที่สุดจึงเป็นที่มาของการได้ไปฝึกเรียนภาษาต่างประเทศ

และโชคดีว่าตอนที่ตัดสินใจเรียน ตอนนั้นมีทางเลือกระหว่างเรียน Peace Studies ซึ่งจะไปเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพอย่างที่ตัวเองกำลังทำงานอยู่ กับอีกด้านหนึ่ง มีทางเลือกอีกทางหนึ่งว่า ถ้าเราเลือกเรียน Peace ไป เราก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ expert แต่เราอาจจะแคบ และเราไม่สามารถเชื่อมกับโลกได้ สุดท้ายอาตมาเปลี่ยนใจไปเรียนเรื่อง CCMPR Corporate Communications, Marketing and Public Relations ด้วยความคิดว่า จริง ๆ โลกขับเคลื่อนไปด้วยกำลังของภาคธุรกิจ และหากเราสามารถ engage ภาคธุรกิจมาร่วมทำสิ่งดี ๆ ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีแนวเรื่องของการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มมีเรื่อง CSR แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ สุดท้ายจึงตัดสินใจเลือกเรียน CCMPR ใน Business School ของ University of Leeds และได้ทุนเป็น Chevening scholar ของปี 2017

ที่เล่าย้อนยาวเพราะต้องการให้เห็นว่ามีที่มา และสุดท้าย ณ ขณะที่เป็น Chevening scholar บังเอิญได้รับนิมนต์จากทางสถานทูตไทยที่อยู่ที่ EU ว่าอยากจะจัดงานวิสาขบูชาครั้งแรกที่นั่น อาตมาจึงตั้งหัวข้อว่า Buddha Day and SDGs: From Individual’s Inner Peace to Peaceful Society วันวิสาขบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เรานำเสนอประเด็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุคปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทำอะไรไว้ที่เรียกว่าเป็นเหมือนกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนในโลกปัจจุบัน และคำสำคัญคือ From Individual’s Inner Peace to Peaceful Society หมายความว่า ต้องการให้โลกตะวันตกเข้าใจด้วยว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นที่ความสุขสงบเฉพาะตัว คือ Inner peace อย่างเดียว แต่เป็น outer peace หรือความสุขที่คนในสังคมที่เป็นปัจเจกนั่นเองช่วยกันสร้างโครงสร้าง ค่านิยม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมได้ และเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ก็คือการขับเคลื่อนเพื่อที่จะมีองค์กรรองรับ อาตมาเห็นแล้วว่าในส่วนของบ้านเรา ดังที่ได้เล่าย้อนว่า เหมือนโครงสร้างสังคมเราไม่เอื้อพอที่จะให้คนมีวิสัยทัศน์ เห็นโลกกว้าง แล้วรู้ว่าสิ่งเล็ก ๆ ในประเทศเรา จริง ๆ สามารถสร้างผลเชิงบวกให้กับโลกได้ เริ่มต้นที่ตัวเรา ไม่ใช่เรารับจากโลกอย่างเดียว แต่เราสามารถให้บางอย่างกับโลกได้ด้วย และจริง ๆ แล้วไม่ใช่ให้หรือรับ แต่เป็นการแบ่งปันแก่กันและกัน มูลนิธินี้ตั้งใจจะเป็น bridge ระหว่าง community ในประเทศ ในชุมชนเรา และในประเทศ และ regional ภูมิภาค ตลอดจนถึงระดับ global ฉะนั้นลักษณะงานก็จะเป็นเรื่องของ

1. ทำงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่ช่วยกลุ่มคนที่เปราะบาง กลุ่มที่ขาดโอกาส เช่น เราจัดค่ายธรรมะ เราใช้ชื่อค่ายว่า “สว่างตาอาศัยแสงไฟ สว่างใจอาศัยแสงธรรม” ให้กับพี่น้อง น้อง ๆ นักเรียนที่ไม่สามารถมองเห็น ที่มาก็เพราะว่าน้องตาบอดคนหนึ่งไปจับพระอาจารย์รูปหนึ่ง แล้วน้องบอกว่า อ้อ พระเป็นอย่างนี้เอง จีวรเป็นอย่างนี้เอง แล้วโยมหมอซึ่งสุดท้ายมาเป็นรองประธานของมูลนิธิ ชื่อโยมหมอปราณีก็ปรารภเรื่องนี้ มีความรู้สึกว่าอยากให้น้อง ๆ กลุ่มนี้ได้ฟังธรรม แล้วเราก็จัดกระบวนการต่าง ๆ ให้ เพราะว่ามีความรู้สึกว่า ตาบอด แต่ใจน้องไม่บอด เพราะฉะนั้นทำอย่างไรน้องจะได้มีโอกาสนี้ งานหลาย ๆ อย่างในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ตอนที่ตั้งสถาบัน ตั้งแต่ 2015 แต่ยังไม่เป็นมูลนิธิ เราก็ทำงานที่อิงกับโครงสร้างเดิมของเรา คืองานที่ต่อเนื่องมาจากกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม งานที่ต่อเนื่องมาจากในส่วนของอาตมา ก็จะเป็นการบรรยาย การจัดกิจกรรม แต่จะเน้นไปที่เรื่องของ Opinion leader เน้นไปที่หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง เน้นไปที่กลุ่มผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ จัดโครงการอบรมพระ เป็นต้น งานส่วนใหญ่ก็จะมาในแนวนี้

แต่เมื่อตั้งมูลนิธิ เมื่อต้นปีที่แล้ว บังเอิญเจอโควิด จึงถือโอกาสพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เราจัดโครงการ English for peace of mind ผ่าน zoom เพราะว่าเจอกันไม่ได้ แต่ว่า English for peace of mind ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษเพื่อความสุขสงบใจในแง่ว่าจะได้สื่อสารภาษาอังกฤษกับต่างชาติโดยไม่ต้องตกใจอย่างเดียว ไม่ใช่แค่นั้น แต่เราบูรณาการเอาคำสอนทางพุทธศาสนา ศาสนาอื่น ๆ แล้วก็เรื่อง SDGs สอดแทรกเข้าไปในส่วนของ English for peace of mind

ข้อที่น่าดีใจคือ วันเปิดได้รับความสนใจจากสื่อ คุณเทพชัย หย่อง จากไทยพีบีเอส เรานิมนต์ท่านพระอาจารย์มหาไพรวัลย์ ท่านมาร่วมเรียนด้วย และเนื่องท่านเป็น influencer เรามีเยาวชนที่มาร่วมเสวนา เราจัดร่วมกับคนไทยที่อยู่ในเยอรมัน ภรรยาท่านทูตที่อยู่อิตาลี เป็นต้น และโชคดีที่สุดคือ เมื่อจบหลักสูตรช่วงเดือนสิงหาคม คุณ Renaud ซึ่งเป็นผู้แทนของ UNDP ก็มาร่วม เพราะเราจัดปาฐกถา เราจัดเสวนาเรื่องของ Buddhism for SDGs: Strategy and Synergy การขับเคลื่อนพุทธศาสนาเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมียุทธศาสตร์และพลังทวีคูณ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะจากคุณ Renaud เอง รู้สึกชื่นชมที่ทางมูลนิธิได้จัดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และถือโอกาสพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และสำคัญที่สุดก็คือ ทำให้คุณ Renaud เห็นมิติว่า ทั้งคำสอน ทั้งวัด 30,000 กว่าวัด พระภิกษุสามเณรเกือบ 300,000 จริง ๆ แล้ว สามารถเป็น Change Agent ในเรื่องของ SDGs ได้เลย ซึ่งมีการพูดคุยหลาย ๆ อย่างที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนต่อไป

เท่าที่ผ่านมา ที่พอจะเล่าให้คุณพลินีและคุณผู้ฟังได้ก็คือ การไปผนวกกำลังกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ปีที่แล้ว 21 ธันวาคม 2563 มูลนิธิได้จัดลงนาม MOU รวมพลังขับเคลื่อนทั้ง 3-4 ภาคข้างต้น ที่เรียกว่าออดิทอเรียมของวัดสระเกศ วัดสระเกศ ออดิทอเรียม ซึ่งภาษาไทยก็คือหอประชุม หอประชุมเพลิง ก็คือเมรุนั่นเอง แม้ที่วัดไม่ได้มีหอประชุมที่หรูหรา แต่ที่เมรุก็เป็นออดิทอเรียมที่ดูดีและเราได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณ รักษาการเจ้าอาวาส พระเทพรัตนมุนี ลงมาร่วมลงนาม MOU กับเราด้วย เสียดายว่าเดิมจะมีลงนาม 33 องค์กร แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด ขณะนั้นทาง กทม. ประกาศไม่ให้มีการรวมตัวกันมาก จึงจำเป็นต้องลดเหลือแค่ 9 องค์กร แต่ข้อดีคือหลวงพ่อท่านอนุญาตว่าต่อไปหากองค์กรใดต้องการจะประชุม ทำสัมมนาเรื่อง SDGs สามารถมาใช้บริการวัดสระเกศ ออดิทอเรียม ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ท่านเปิดช่องทางให้เกิดการทำงานร่วมกัน

สุดท้ายคือการที่เราชวนคณะกรรมการ ชวนญาติโยมมาทำสิ่งที่เป็นลักษณะ Collab กัน เช่น การทำโครงการ “ทำบุญ หนุนธรรม นำ SDGs” เราร่วมกับโหระพา กับมาดามตวง ซึ่งที่กล่าวก็เป็น Food celeb กับทำเรื่อง catering ก็ได้หารือกันว่าในเมื่อทางองค์กรได้ทำเรื่องของ catering อยู่แล้ว ต่อไปก็แจ้งเจ้าภาพด้วยว่า นิมนต์พระบรรยายธรรม 15 นาทีเรื่องเกี่ยวกับเจ้าภาพ เกี่ยวกับงาน และเกี่ยวกับเรื่อง SDGs และจะมีผ้ารับประเคนลดโลกร้อน ซึ่งมูลนิธิร่วมกับมอร์ลูป (moreloop) เป็น Circular Economy ที่เอาผ้าที่จะทิ้งมาทำเป็นผ้ารับประเคน ซึ่งจะมีข้อมูลบอกว่าผ้านี้ลด carbon footprint ไปเท่าไหร่ และมี QR Code ให้สแกนข้อมูลเกี่ยวกับ Buddhism for SDGs ด้วย

สุดท้ายเรื่อง “ลงธรรม นำทุน บุญหนุนสังคม” มูลนิธิได้ร่วมมือกับ BCORP, Social Value Thailand ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ นี่คือแนวทางการสื่อสารและงานในส่วนของมูลนิธิ สกพ. หรือ IBHAP Foundation ได้กำลังดำเนินการอยู่

พระอาจารย์ได้บูรณาการทั้งเรื่องของเนื้อหาในการใช้พุทธธรรมในการนำและแก้ปัญหาของสังคม และรวบรวมผู้คน เซเลป หรือคนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาได้มากมายในการทำงานที่ผ่านมา พระอาจารย์ได้เล่าให้เห็นถึงเรื่องราวของพระอาจารย์เองที่มีความสนใจเรื่องนี้ และก็ได้พยายามค้นคว้าศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ได้นำความรู้เหล่านั้นมาช่วยในเรื่องของการแก้ปัญหาสังคม

 

ขอเรียนถามพระอาจารย์ ในเรื่องของการสร้างสุขและสันติที่ผ่านมา ที่พระอาจารย์ได้พยายามทำเรื่องนี้ พระอาจารย์เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับผู้คนหรือสังคมในปัจจุบันนี้อย่างไร

จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก และหากพูดถึงในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า พระองค์สอนแค่ 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องทุกข์ กับ 2. เรื่องความดับทุกข์ นี่เป็น 2 เรื่องสำคัญ ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามที่คุณพลินีถามมา แต่ข้อที่จะชวนญาติโยมเข้าใจก็คือ คนไทยเองหรือตะวันตก ณ ตอนนี้ มีความสนใจเรื่อง mindfulness เรื่อง meditation มาก เรื่องสติ เรื่องฝึกสมาธิ แต่ด้านหนึ่งก็กลายเป็นว่า คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่า ความสุขในทางพุทธศาสนาคือการหลับตานั่งสมาธิ มีความสุขใจแต่ไม่แก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่ พระพุทธศาสนามี 3 ส่วน เรียก ไตรสิกขา ศีล คือการปรับปรุงพฤติกรรมทางกายและวาจา สมาธิ การพัฒนาคุณภาพจิตใจ และสุดท้ายปัญญา คือความรู้ความเข้าใจ ซึ่ง 3 ส่วนนี้เกี่ยวโยงกัน บางคนมีพฤติกรรมดี แต่จิตใจไม่ดี นี่ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดของพระพุทธศาสนา หรือบางคนมีปัญญารู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนใจตัวเองไม่ได้ ก็ไม่โอเค ดังนั้นต้องบูรณาการ นี่คือเรื่องแรก

เรื่องที่ 2 สุขและสันติในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องทั้งภายในและภายนอก และเป็นเรื่องทั้งปัจเจกและสังคม ดังนั้น ไม่สามารถที่จะมุ่งไปเฉพาะตัวเองอย่างเดียวได้ เพราะหากเป็นนั้น พระพุทธเจ้าก็คงจะเป็นแค่พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายความว่ามีความสุข รู้ ตรัสรู้เฉพาะตัวเอง แต่ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้โดยชอบโดยพระองค์เองแล้ว ยังมีกระบวนการจัดการ ก็คือทำให้เกิดพุทธบริษัท 4 เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภายในก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี ภายนอกก็คือ อุบาสก อุบาสิกา และรวมทั้งไปเชื่อมกับในส่วนของอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองต่าง ๆ เพื่อให้โครงสร้างทางสังคมเป็นไปด้วยดี เอื้อต่อการเกิดสุขภายใน ซึ่งนี่คือหัวใจของการดำเนินงานของมูลนิธิ เพราะมูลนิธิมีชื่อภาษาอังกฤษคือ Institute of Buddhist Management for Happiness and Peace Foundation คีย์เวิร์ดคือตัว management มี peace and happiness เป็นเป้าประสงค์ เป็น purpose แต่ตัวที่เป็นแกนหลักในวิธีคิดคือ management เราต้องจัดการจิตใจเราอย่างไร เราต้องจัดการความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนภายนอกอย่างไร เราจัดการสื่อหรือสถาบันที่มีบทบาทหลักต่อความสุขของคนในสังคมอย่างไร นี่คือกลไกสำคัญ

ดังนั้น ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ จะมีถึงการขยับขับเคลื่อนไปถึงระดับนโยบาย และเป็นต้นแบบได้ในระดับสากลด้วย เพราะมูลนิธิเห็นว่า ณ วันนี้ ปัญญา ภูมิปัญญาของไทย วัฒนธรรมพุทธ สามารถเป็นคำตอบให้กับชาวต่างชาติได้ ณ วันนี้ การสร้างสุขและสันติที่กำลังพูดถึง เราเห็นความสำคัญขนาดที่ว่า นอกจากเราจะทำอย่างมียุทธศาสตร์และพลังทวีคูณแล้ว เราต้องช่วยเป็นต้นแบบให้องค์กรต่างประเทศหลาย ๆ องค์กร เช่นตอนนี้ที่ร่วมงานอยู่ก็จะมี The Network for Religious and Traditional Peacemakers ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฟินแลนด์ ทาง FCA หรือ Finn Church Aid เป็นต้น ตลอดจน Religions for Peace หรือในส่วนของ KAICIID องค์กรที่ทำเรื่อง Interfaith dialogue การสานเสวนาระหว่างศาสนา เพราะเลี่ยงไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้ววันนี้ ความขัดแย้งสำคัญอันหนึ่งก็คือ การจัดการกับความแตกต่าง ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะฉะนั้น งานพวกนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

และโชคดีว่าในกรรมการเอง เราก็ได้เจอคนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการสื่อสาร การสื่อมวลชน เช่น คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ก็มาร่วมเป็นกรรมการของ IBHAP ด้วย และเนื่องจากในส่วนของคุณสุภิญญาเอง คุณแมรี่ ดร.พิมพ์รภัช ของมูลนิธิ FNF Thailand ก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติ ฉะนั้น นี่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ตอนนี้กำลังช่วยกันขับเคลื่อนอยู่ เราพยายาม Collab กัน และทุกครั้งที่เราสื่อสาร คือการเปิดพื้นที่ให้เราเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อทำงานร่วม ด้วยกันและกันมากขึ้น ฉะนั้น นี่เป็นการสื่อสารเพื่อสุขและสันติที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน

โดยสุดท้ายในมุมเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างสุขและสันติวิถีพุทธ ตอนนี้เราก็เห็นว่าน่าจะต้องใช้สื่อมวลชนมาช่วยด้วย ดังนั้น ช่วงหลังนี้ มูลนิธิก็ใช้วิธีที่ approach พระที่เป็น influencer เช่น พระอาจารย์มหาสมปอง พระมหาไพรวัลย์ มาคุยกันเรื่องสุขและสันติ เรื่อง Buddhism for SDGs และในที่สุดท่านก็ประทับใจกับสิ่งเหล่านี้ และสุดท้ายพระอาจารย์มหาสมปองเองก็มานิมนต์อาตมาไปร่วมรายการธรรมะรายการแรกของเวิร์คพอยท์ที่ชื่อรายการ “หลวงพี่ช่วยด้วย” ก็เป็นช่องทางใหม่ล่าสุด ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เวลาเพล เพล พ้อยท์ ของพระ เวลา 11 โมง แล้วเราก็จะช่วยแก้ pain point ของสังคมด้วย เพราะเราสอดแทรกธรรมะไปในรายการ 30 นาทีนั้น โดยเอาปัญหาของคนในสังคม โดยมีดารามาเป็นตัวแทนคำถาม

นี่เป็นการตอบแบบทั้งย่อและขยายให้คุณพลินีและคุณผู้ฟังเห็นว่า การสร้างสุขและสันติวิถีพุทธคือปัจเจกและสังคม คือภายในและภายนอก และคือการที่เราทุกคน ไม่ว่าเรานับถือเชื้อชาติศาสนาไหน เราร่วมทำด้วยกันได้ แต่ในฐานะที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เราก็ควรจะเอาทุนทางสังคมและวัฒนธรรมคือพระพุทธศาสนา มาช่วยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ฉะนั้นวันนี้ท่าทีเรื่อง Buddhism for SDGs ก็จะเห็นภาพพระอาจารย์มหาสมปองถือป้ายเรื่อง Gender equality เป็นต้น และท่านก็พูดเรื่องประเด็นนี้ นี่คือตัวอย่าง

ชัดเจนทีเดียวว่าการสร้างสุขและสันติต้องสร้างทั้งภายในและภายนอก การมีกลไก กระบวนการต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เกิดสันติกับสังคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

 

ขอเรียนถามคำถามสุดท้ายว่า ในการที่ทำทั้งหมดตั้งแต่ท่านเป็นสามเณรมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป้าหมายในการทำงานของพระอาจารย์คืออะไร

เป้าหมายในความรู้สึกของอาตมาอาจจะมีพื้นฐานมาจากความตระหนักรู้ว่าชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็ก สมมติว่าหากไม่ได้เจอพระพุทธศาสนา ไม่ได้รับการปลูกฝังจากพ่อแม่ การสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ ตัวเองก็น่าจะไม่ได้มีภาวะที่เป็นสุขข้างใน แล้วสามารถไปทำงานเป็นประโยชน์สุขข้างนอกได้ ดังนั้นพอมองไป เราเห็นเลยว่าในประเทศไทย ทุนทางสังคม สถาบันทางพระพุทธศาสนา วัดกว่า 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถมาเป็นศูนย์สร้างสรรค์ความสุขให้กับคนได้ ไม่ว่าสุขและสันติภายในที่เป็น Inner peace หรือมาเป็นศูนย์ชวนคนเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ เพื่อจะได้ลดเรื่องของ Food waste ช่วยลดการบริโภคพลาสติก ช่วยให้คนทำเรื่องรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายก็จะช่วยทำให้สังคมเป็นสุขไปด้วยกัน และเป็นความสุขแบบยั่งยืน ซึ่งมุมทั้งหมดเหล่านี้คือเป้าหมายที่อาตมารู้สึกว่า เราอยากให้คนและสังคม ทั้งในไทยรวมทั้งขยายออกไปภายนอกได้เข้าถึงความสุขภายในและช่วยกันสร้างสันติสุขภายนอกให้เกิดขึ้น

ถ้าตอบแบบสรุปรวบรัดก็คือ เป้าหมายของอาตมาก็จะสอดคล้องกับในส่วนของ motto ของ IBHAP Foundation คือ Peace in one’s heart start in one’s hands สันติสุขในใจใคร เริ่มต้นได้ที่ใจเรา เพียงแต่ว่าอย่าจบที่ใจเรา อาตมารู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้รับการเรียนรู้ที่ดี ได้โอกาสดีทั้งเรื่องภาษา ได้เจอกัลยาณมิตรในหลายแวดวง แม้กระทั่งการที่คุณพลินีติดต่อประสานนิมนต์พระมา แม้จะไม่ใช่หลวงพี่ช่วยด้วย อาจจะมาช่วยหลวงพี่ด้วย ก็ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรสำคัญที่จะช่วยทำให้การสื่อสารขยายวงออกไป ฉะนั้น ความที่เราโชคดี เราได้พื้นที่อย่างนี้แล้ว ทำอย่างไรเราจะ

1. เปิดพื้นที่ใจ เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่จริง

2. เปิดพื้นที่จริง เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่ใจ และสุดท้าย

3. เปิดพื้นที่เสมือนจริง โลกออนไลน์เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่จริงและพื้นที่ใจ

อันนี้คือเป้าหมายของการทำงานของอาตมา สันติสุขในใจใคร เริ่มต้นได้ที่ใจเรา แต่อย่าให้จบแค่เรา ชวนคน ชวนใครก็ได้ คำของเรา การพูดของเรา การทำเป็นตัวอย่างของเรา อาจจะทำให้ใครบางคนได้คิดและเขาอาจจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองไป สำคัญที่สุด มาช่วยกันสร้างโครงสร้างที่มันเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสุขภายในของคนได้ง่ายขึ้น และมีโครงสร้างภายนอกที่เอื้อให้แต่ละคนได้มาร่วมกันทำความสุข ความสันติที่ยั่งยืนด้วยกัน เจริญพร

สาธุค่ะพระอาจารย์ ในวันนี้รายการเราได้พูดคุยกับพระอาจารย์มหานภันต์ สนฺติภทฺโท ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิด ความเห็นดี ๆ จากสิ่งที่มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติกำลังทำที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มตั้ง แต่พระอาจารย์ได้มีการดำเนินการที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องและมีเป้าหมายที่ชัดเจน การรวมพลังของหลาย ๆ คนเข้ามาร่วมกันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสังคม และพระอาจารย์พูดชัดเลยทีเดียวว่า วัดจริง ๆ เป็นศูนย์สร้างสรรค์ความสุขได้ในหลาย ๆ เรื่อง ที่จะช่วยในเรื่องของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ในหลายมิติทีเดียว และชอบมากใน motto ของมูลนิธิที่พูดถึงเรื่องของสันติสุขในใจใคร เริ่มต้นได้ที่ใจเรา วันนี้ กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่มาพูดคุยในรายการ zoom สื่อ ในวันนี้ ขอบพระคุณค่ะ

เจริญพร ต้องขออนุโมทนาคุณพลินีและท่านผู้ฟังทุกท่าน อาตมาฝากปิดท้ายนิดเดียว อยากชวนทุกท่านที่เป็นผู้ฟัง ไม่ใช่แค่ฟัง สื่อสาร ถ้าท่านรู้สึกเห็นด้วย ไปหาหลวงพี่ หลวงพ่อที่วัด แล้วชวนท่านมาร่วม บางทีโยมจะรู้สึกว่าต้องให้พระนำ จริง ๆ ไม่เกี่ยว ใครเริ่มก็ได้ในพุทธศาสนา ไม่จำเป็นว่าจะต้องพระนำอย่างเดียว โยมก็ร่วมกันได้ ฉะนั้น ชวนว่าถ้าสนใจก็เข้าไปดู www.ibhap.org แล้วก็เราสามารถร่วมกันสื่อสารเพื่อสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนในสังคมได้ด้วยกัน ขออนุโมทนาอีกครั้ง เจริญพร

ค่ะ สาธุค่ะ และสำหรับวันนี้นะคะ เวลาของรายการ zoom สื่อ ก็หมดลงแล้วค่ะ พบกันใหม่ในวันอาทิตย์หน้านะคะ ช่วงเวลา 9.00-10.00 น. ทาง Chula Radio Plus FM 101.5 MHz ค่ะ วันนี้ ดิฉันพลินี ศิริรังษี ต้องลาคุณผู้ฟังไปด้วยเวลาเพียงเท่านี้ค่ะ สวัสดีค่ะ


คลิกฟังรายการย้อนหลัง

Loading

Total Page Visits: 2537 - Today Page Visits: 1